วันรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ
วันรัฐธรรมนูญ คือ วันที่ระลึกคล้ายวันซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม (ไทย) ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง (ประเทศ) ตามระบอบประชาธิปไตย (การปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่) ให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕
ประวัติความเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีบุคคลคณะหนึ่งทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ได้รวมกำลังกันเข้ายึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และอัญเชิญพระองค์เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินที่คณะราษฎร์ได้สร้างขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารว่า ทรงเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อเป็นจลาจลเดือดร้อนเสียหายแก่บ้านเมือง และอันที่จริงได้ทรงพระราชดำริเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงทรงยอมรับที่จะช่วยให้การตั้งรัฐบาลตามรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งรัฐธรรมนูญโดยสะดวก เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงยอมรับรอง นานาประเทศจะไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ก็จะเป็นความลำบากยุ่งยากยิ่งขึ้น
พระราชกิจแรกหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น คือพระราชทานพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ซึ่งมีข้อสำคัญว่าการกระทำของคณะราษฎรในครั้งนี้หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ครั้นถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายน จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ใช้ไปพลางก่อน พร้อมโปรดให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป
หลังจากนั้น ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญ เวลา ๑๕.๐๐ น. ท่ามกลางมวลเสนามาตย์ ข้าราชบริพารและได้จัดงานมหกรรมสมโภชเป็นการเฉลิมฉลองไปทั่วพระราชอาณาจักรเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน
วันที่ ๑๐ ธันวาคม จึงเป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญสืบมา เรียกสั้น ๆ ตามที่ทางราชการกำหนดว่า วันรัฐธรรมนูญ (ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่าวันฉลองรัฐธรรมนูญ)
กิจกรรมทางวัฒนธรรม
จัดประชุม/เสวนา รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ จัดนิทรรศการ สาธิต-อบรม การแสดงกิจกรรมนันทนาการ ให้ความรู้ ความเข้าใจความหมาย คุณค่าความสำคัญและความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองไปยังส่วนองค์กรของสังคม เช่น ครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา การเมือง ศาสนารวมไปถึงสื่อมวลชน องค์กรเอกชน ส่วนราชการ ฯลฯ
###
อ้างอิง
สมบัติ จำปาเงิน. วันสำคัญของเรา. – – กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, ๒๕๔๗. ๒๖๔ หน้า.
เครดิตภาพ